“วราวุธ” รมว.พม. ชวนสืบสานภูมิปัญญาชาวเล-มานิ มรดกแห่งชาติพันธุ์

เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2568 ที่ จ.พังงา นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) ลงพื้นที่จังหวัดพังงา ที่หาดบางสัก อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา เป็นประธานเปิด “โครงการชมวิถีชาวเล ยลเสน่ห์มานิ Charming of the Sea – Let’s see the Mountain 2025” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16 – 18 พฤษภาคม 2568 โดยมี นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) นายบุญธรรม ถาวรทัศนกิจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา นายกันตพงศ์ รังษีสว่าง อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ พร้อมคณะผู้บริหารในสังกัดกระทรวง พม. ผู้นำเครือข่ายชาติพันธุ์ พี่น้องราษฎรชาติพันธุ์ชาวเล และมานิ ประชาชนทั่วไป นักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างประเทศ เข้าร่วมงาน

นายวราวุธ กล่าวว่า ตนและคณะผู้บริหารกระทรวง พม. ได้ลงพื้นที่ชุมชนบ้านหินลูกเดียว และชุมชนบ้านแหลมหลา อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต เพื่อเยี่ยมชมพื้นที่บริเวณหลักหมุดเขตคุ้มครองสำหรับกลุ่มภูมิปัญญาสมุนไพรรักษาโรคและกลุ่มคนเปราะบางกลุ่มอาชีพประมงพื้นบ้าน รวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ชุมชนชาวมอแกลน พร้อมเปิดโครงการชมวิถีชาวเล ยลเสน่ห์มานิ Charming of the Sea – Let’s see the Mountain 2025” ที่หาดบางสัก อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ซึ่งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) ได้ขับเคลื่อนภารกิจสำคัญในการฟื้นฟูวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลในทุกมิติ ทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ คุณภาพชีวิต กฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการพัฒนาสังคมให้แก่ราษฎรชาติพันธุ์ภาพรวมของประเทศ จึงเร่งเดินหน้าส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตของราษฎรชาติพันธุ์ชาวเล และมานิ ให้มีความเข้มแข็ง และดำเนินการประสานความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน

นายวราวุธ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับ “โครงการชมวิถีชาวเล ยลเสน่ห์มานิ Charming of the Sea – Let’s see the Mountain 2025” จัดขึ้นเพื่อให้ประชาชนทั่วไปรู้จักชาติพันธุ์ชาวเล และมานิ มากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมเผยแพร่ รักษาศิลปวัฒนธรรมและประเพณีอันดีงามของชาติพันธุ์ชาวเล และมานิ เป็นการสัมผัสความแตกต่าง คุณค่าความหลากหลายอย่างเข้าใจ เกิดคุณค่าทางสังคมและเป็นมรดกทางภูมิปัญญาที่สำคัญต่อไป ตลอดจนสร้างรายได้ให้กับราษฎรชาติพันธุ์ชาวเล และมานิ ทั้งในช่วงเวลาของการจัดโครงการฯ และเป็นการประชาสัมพันธ์ที่จะสามารถสร้างการรับรู้ในสังคมและสร้างรายได้ในระยะยาว

โครงการดังกล่าวมีกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย ได้แก่ การแสดงนิทรรศการพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับ “การพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พลังที่ถูกส่งต่อจากภูเขาถึงทะเล” พิธีจำลองประเพณีลอยเรือของชาติพันธุ์ชาวเล พิธีกรรมอันสำคัญที่แสดงถึงการขับไล่สิ่งชั่วร้าย โรคภัย และความทุกข์ยากให้ลอยไปกับทะเล รวมทั้งเป็นการขอพรจากบรรพบุรุษและสิ่งศักดิ์สิทธิ์แห่งท้องทะเลให้ปกปักรักษานำความอุดมสมบูรณ์มาสู่ชุมชน การจัดแสดงบ้านจำลองวิถีชีวิตชาติพันธุ์ชาวเล และมานิ การจัดแสดงผลิตภัณฑ์จากกลุ่มราษฎรชาติพันธุ์ รวมกว่า 80 ร้านค้า ทั้งของกิน ของใช้ เครื่องประดับ ของที่ระลึก เป็นต้น การจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย “ลดแลกแจกแถม แหลงก็จ่าย หรอยก็จ่าย จ่ายให้เหม็ด” กิจกรรม Workshop ทำของที่ระลึก การแสดงศิลปวัฒนธรรมจากราษฎรชาติพันธุ์ชาวเล และมานิ พร้อมความบันเทิงสุดพิเศษกับการแสดงคอนเสิร์ตจากศิลปินชื่อดัง ลิลลี่ ได้หมดถ้าสดชื่น อานัส มิวสิครูม และหนังตะลุงน้องเดียว” นายวราวุธ กล่าวทิ้งท้าย






