NEWS

โครงการออกแบบและพัฒนาบอร์ดเกมชุด “นักสืบของอดีต”Next turn, transferring research to board game

ปัจจุบัน รูปแบบของการสื่อความหมายและการเผยแพร่งานวิจัยภายใต้แวดวงวิชาการ เพื่อนำเสนอออกสู่สาธารณชน เห็นได้ว่าส่วนใหญ่เป็นรูปแบบเอกสาร รูปเล่มและคู่มืองานวิจัย การถ่ายทอดผ่านตัวอักษรออกสู่วงกว้างถือเป็นที่ยอมรับสำหรับวงวิชาการเป็นอย่างมาก แต่ในทางกลับกันกับไม่ได้รับความสนใจและใช้งานจริงในบริบทของคนทั่วไป ก่อเกิดเป็นสภาวะที่เรียกว่า “งานวิจัยขึ้นหิ้ง” เพื่อลดช่องว่างการสื่อสารของงานวิจัยให้เกิดลักษณะที่เคี้ยวง่ายสำหรับกลุ่มคนรุ่นใหม่ และกลุ่มคนชาติพันธุ์ จำเป็นต้องมีเครื่องมือที่เป็นสื่อกลางที่เหมาะสมกับทุกระดับมากยิ่งขึ้น

​เกมกระดานถูกประดิษฐ์คิดค้นมาเพื่อส่งเสริมพฤติกรรมด้านการปะทะสังสรรค์ การแลกเปลี่ยนความคิด กลยุทธ์ในการวางแผนของแต่ละฝ่าย พร้อมกับเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างเสียงหัวเราะผ่านสถานการณ์ภายในเกมที่แตกต่างกันออกไป จุดเด่นที่สำคัญคือ การออกแบบภาพประกอบที่ดึงดูด มีเนื้อหาและระบบที่สนุกและเร้าใจ ยิ่งเล่นยิ่งได้เรียนรู้อะไรใหม่ทุกครั้ง เป็นสื่อการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพทั้งในและนอกห้องเรียน รวมถึงสามารถถ่ายทอดความรู้ได้กับทุกกลุ่มคน กลุ่มคนชาติพันธุ์ คนในเมือง ได้หลายระดับช่วงอายุ หากกล่าวโดยสรุปคือเกมกระดานเปรียบเสมือนเป็นเครื่องมือทลายกำแพงทางด้านภาษา เชื้อชาติและวัฒนธรรม

​ด้วยประเด็นดังกล่าวนำมาสู่การสร้างรอบ/ก้าวต่อไป (Next turn) ของเกมกระดานที่ขยายพรมแดนไปสู่งานวิจัยขึ้น ผ่านการนำงานวิจัยของ ศ.ดร.รัศมี ชูทรงเดช ผู้เป็นนักวิจัยที่ทำงานด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์ มานุษยวิทยา และการจัดการทรัพยากรทางวัฒนธรรม จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นโครงการวิจัยด้านโบราณคดีเชิงสหวิทยาการเพื่อให้เกิดการบูรณาการศาสตร์จนเกิดองค์ความรู้ที่รอบด้านในหัวข้อวิจัยที่ศึกษา ทางผู้ออกแบบเกมกระดานได้ศึกษาและทบทวนวรรณกรรมจนสรุปองค์ความรู้ที่ได้ออกมาเป็นเกมกระดานทั้ง 3 ดังนี้

เกมกระดานที่ 1 นักสืบชาติพันธุ์ (มานุษยวิทยา) เป็นการใช้องค์ความรู้ทางด้านชาติพันธุ์วรรณามาผสมผสานเข้ากับเกมกระดาน โดยกลุ่มชาติพันธุ์ที่ปรากฏภายในพื้นที่ต่างมีอัตลักษณ์ ความแตกต่างและ วัฒนธรรมที่ร่วมกัน ทำให้เป้าหมายสำคัญของการเล่นเกมกระดานที่ 1 คือการสร้างความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางชาติพันธุ์ให้กับคนที่เล่นได้รับรู้และเข้าใจ เพื่อให้ตรงกับความต้องการของผู้เล่นที่อยากเรียนรู้เรื่องราวของวัฒนธรรมตนเองและวัฒนธรรมรอบข้าง นำมาสู่การคิดค้นรูปแบบการเล่นที่ใช้การซ่อนตัวตนของตนเอง (Hidden role) มาส่งเสริมเรื่องของความจำและการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันภายในกลุ่มผู้เล่น เพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางวัฒนธรรม ประเพณีต่างๆ ของแต่ละชาติพันธุ์ ผู้เล่นทุกคนจะได้สวมบทบาทเป็นหนึ่งในกลุ่มคนของชนเผ่าต่างๆ ผู้เล่นต้องพยายามค้นหาประเพณีและวัฒนธรรมที่เกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ของผู้เล่นคนอื่น พร้อมทั้งพยายามเก็บคะแนนของชาติพันธุ์ตนเองให้ครบตามที่กำหนด หากผู้เล่นคนใดสามารถเรียนรู้และท้ายผลได้ถูกต้องจะเป็นผู้ชนะ

เกมกระดานที่ 2 ปริศนาโลงไม้ (ประวัติศาสตร์และโบราณคดี) เป็นการนำองค์ความรู้และข้อมูลทางโบราณคดีที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมโลงไม้อันเป็นความรู้ที่สำคัญจากผลงานวิจัยของ ศ. ดร. รัศมี ชูทรงเดช มาประยุกต์ใช้ลงไปภายในเกมกระดาน ผ่านขั้นตอนของการใช้ระบบเกมแบบการควบคุมพื้นที่ (Area control) ที่ส่งเสริมให้เกิดจินตนาการของการใช้ชีวิตและการดำรงชีวิตในอดีต เพื่อกระตุ้นให้เข้าใจภูมิหลังทางสังคมและวัฒนธรรมยุคก่อนประวัติศาสตร์ สมัยเหล็ก (2,300 – 1,000 ปีมาแล้ว) หรือวัฒนธรรมโลงไม้ในอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน

ผู้เล่นแต่ละคนจำลองบทบาทตนเองเป็นหนึ่งในสมาชิกของคนในวัฒนธรรมโลงไม้ แต่ละตาผู้เล่นต้องพยายามทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเก็บของอุทิศที่ใช้เป็นเครื่องประกอบพิธีกรรมโลงไม้ และสำรวจเพื่อหาทำเลที่ “ใกล้กับสวรรค์มากที่สุด” สำหรับเป็นที่ฝังศพให้กับบรรพบุรุษตนเอง พร้อมทั้งหาของกินในแต่ละวัน เพื่อให้ชีวิตของตนเองอยู่รอด!!! ความน่าสนใจอย่างหนึ่ง คือ การบริหารพื้นที่ในการทำกิจกรรมให้เกิดประโยชน์มากที่สุด เพราะไม่ใช่คุณเพียงคนเดียวที่อยากครอบครองพื้นที่นั้น แต่ยังมีผู้เล่นคนอื่นมักต้องการกิจกรรมดังกล่าวเช่นกัน ผู้เล่นคนใดก็ตามที่สามารถสร้างโลงไม้ได้ครบทั้งหมด 3 โลง ผ่านการสร้างวัฒนธรรมโลงไม้ในแต่ละแหล่งจะเป็นผู้ชนะ

เกมกระดานที่ 3 นักสืบของอดีต (การจัดการทรัพยากรทางวัฒนธรรม) เป็นการนำเนื้อหา สาระ และข้อมูลของกระบวนการทำงานโบราณคดี เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเกม ผ่านระบบเกมแบบการจัดการทรัพยากรที่อยู่บนมือ (hand management) ผู้เล่นแต่ละคนได้สวมบทบาทเป็นนักโบราณคดีจำเป็นต้องทำการสร้างภาพในอดีตออกมาให้ได้ จากการศึกษาและค้นคว้าต่าง ๆ ผ่านโครงการการขุดค้นที่คุณเป็นผู้คุมอยู่ทั้งหมดให้ทันระยะเวลา (5 รอบ) นักโบราณคดีคนใดที่สามารถสร้างคะแนนได้มากที่สุด ทั้งจากการสร้างภาพในอดีต การเก็บแต้มภารกิจหรือการเก็บโบราณวัตถุ ไว้ช่วงสุดท้าย คนนั้นจะเป็นผู้ชนะของเกมนี้

ท้ายที่สุดเกมกระดานทั้ง 3 เปรียบเสมือนเป็นเครื่องมือที่ส่งเสริมการเรียนรู้แบบพหุวัฒนธรรม พัฒนาทักษะแก่กลุ่มคนทุกระดับ ตลอดจนเยาวชนชาติพันธุ์ให้รู้จักรากเหง้าของตนเอง ส่งเสริมการเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรม รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงที่กระทบต่อสังคมและวัฒนธรรมในท้องถิ่น การกลั่นงานวิจัยมาสู่วิถีของเกมกระดานเพื่อสร้างความสนุกและความเข้าใจภาษาของงานวิจัยให้กับคนทุกระดับถือเป็นแนวทางการสร้างประโยชน์และต่อยอดผลลัพธ์งานวิจัย เพิ่มโอกาสให้ประชาคมหันมาสนใจงานวิจัยมากขึ้น นำไปสู่ก้าวต่อไปของการขยายพรมแดนงานวิจัยสู่สาธารณชน

ผู้สนใจสามารถติดตามข่าวสารบอร์ดเกมชุด “นักสืบของอดีต” ผ่านทาง Facebook : Double Vision – MHS และเว็บไซต์ www.detectiveofthepast.com