“กรมการพัฒนาชุมชน” ร่วมกับ “Local Alike” พัฒนา 20 ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี สู่ “Hotown” การท่องเที่ยวมิติใหม่เพื่อความยั่งยืน
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับ Local Alike (โลเคิล อไลค์) บริษัทที่ดำเนินกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) และเป็นนักพัฒนาด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชนที่มีประสบการณ์การทำงานร่วมกับชุมชนทั่วประเทศไทยมากว่า 10 ปี ดำเนินกิจกรรมการพัฒนาศักยภาพ 20 ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ภายใต้ “โครงการส่งเสริมการบริหารจัดการชุมชนท่องเที่ยวรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว” ซึ่งดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา โดยตลอดระยะเวลาโครงการได้มุ่งเน้นการพัฒนาชุมชนตามแนวคิด Hotown เพื่อยกระดับและฟื้นฟูศักยภาพชุมชนท่องเที่ยวแบบองค์รวมให้มีศักยภาพในการรองรับนักท่องเที่ยวที่จะกลับมาหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย
Hotown (โฮทาวน์) ที่เอาคำว่า Hotel กับ Town มารวมกัน เป็นแนวคิดที่ต้องการขับเคลื่อนชุมชนทั้งชุมชนให้กลายเป็นชุมชนท่องเที่ยวที่ครบครันด้วยที่พัก อาหาร ผลิตภัณฑ์ กิจกรรมการท่องเที่ยว สิ่งอำนวยความสะดวก และสภาพแวดล้อมทางภูมิทัศน์ที่สวยงามโดยการเชื่อมโยงกลุ่มงานต่าง ๆ ของคนในชุมชนเข้าด้วยกัน ซึ่งเป็นการพัฒนาแบบบูรณาการให้ทั้งชุมชนเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวแบบองค์รวมเต็มรูปแบบ โดยกรมการพัฒนาชุมชนได้นำแนวคิดนี้มาใช้ในการนำร่องพัฒนาศักยภาพของ 20 ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ได้แก่
- ชุมชนบ้านแม่แมะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่
- ชุมชนบ้านถ้ำลอด อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน
- ชุมชนบ้านปางห้า อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย
- ชุมชนบ้านหาดสองแคว อำเภอตรอน จังหวัดอุตรดิตถ์
- ชุมชนบ้านผาทั่ง อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี
- ชุมชนบ้านเซินเหนือ อำเภอภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่น
- ชุมชนบ้านสุขสมบูรณ์ อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
- ชุมชนบ้านโคกเมือง อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์
- ชุมชนบ้านตากลาง อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์
- ชุมชนบ้านพิพิธภัณฑ์ อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี
- ชุมชนบ้านแก่งแคบ อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี
- ชุมชนบ้านล่าง อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี
- ชุมชนบ้านสลักคอก อำเภอเกาะช้าง จังหวัดตราด
- ชุมชนบ้านตอนใน อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี
- ชุมชนบ้านคลองตาจ่า อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม
- ชุมชนบ้านอ่าวกะพ้อ อำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา
- ชุมชนบ้านลานข่อย อำเภอป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง
- ชุมชนบ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 9 อำเภอธารโต จังหวัดยะลา
- ชุมชนบ้านหาดส้มแป้น อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง
- ชุมชนบ้านปลายคลอง อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี
โดยทั้ง 20 ชุมชนนี้ นับเป็นชุมชนท่องเที่ยวนำร่องที่ผ่านกระบวนการพัฒนาตามแนวคิด Hotown ที่ประกอบด้วยกิจกรรมการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในชุมชนให้พร้อมรองรับนักท่องเที่ยว การปรับปรุงภูมิทัศน์ การให้ความรู้ต่อยอดแนวคิดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทั้งประเภทอาหารและงานฝีมือที่มาจากภูมิปัญญาของชุมชน การพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวชุมชนให้สอดรับกับวิถีการท่องเที่ยวแบบปกติใหม่ (New normal) ปิดท้ายด้วยการทำการตลาดและประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้ให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาสัมผัสวิถีชีวิตและลองลิ้มรสอาหารประจำท้องถิ่น ผลิตภัณฑ์ชุมชน และเส้นทางการท่องเที่ยวที่เป็นเอกลักษณ์
การพัฒนาศักยภาพชุมชนท่องเที่ยวในครั้งนี้ได้สร้างการท่องเที่ยวมิติใหม่ที่ช่วยให้นักท่องเที่ยวได้รับประสบการณ์การท่องเที่ยว 20 ชุมชนในแบบที่แตกต่างไม่ว่าจะเป็น…
ความม่วนใจเบิกบานจากการมาเยือนภาคอีสาน ไปกับชุมชนที่โดดเด่นด้านวัฒนธรรม “ชุมชนบ้านตากลาง” จังหวัดสุรินทร์ ที่ขึ้นชื่อได้ว่าเป็นหมู่บ้านช้างที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีช้างมากกว่า 400 เชือก โดยชุมชนมีสายสัมพันธ์วิถีคนกับช้างที่ใช้ชีวิตเปรียบเสมือนสมาชิกในครอบครัว หากช้างล้ม(ตาย) ชาวบ้านก็จะทำพิธีบังสุกุล นิมนต์พระมาสวดทำพิธีและนำอัฐิไปบรรจุในสุสานช้าง และความน่าสนใจของชุมชนคือ วัฒนธรรมและวิถีความเป็นอยู่ที่มีอัตลักษณ์จากรากฐานของคนไทยชาติพันธุ์กวย หรือ กุย ผู้มีความชำนาญในการคล้องช้างป่าและสืบสานทักษะการเลี้ยงช้างมาจากบรรพชน ประเพณีวัฒนธรรมทรงคุณค่าและโดดเด่นของที่นี่
นอกจากนี้ยังมีชุมชนต้นแบบที่มีความโดดเด่นด้านอาหาร อย่าง บ้านสุขสมบูรณ์ อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ชุมชนการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและเชิงเกษตรที่ต่อยอดมาจากวิถีชีวิตจริง อย่าง การปลูกผักผลไม้ปลอดสารพิษ ด้วยวัตถุดิบที่สด สะอาด ผสมผสานกับรสมือแม่ครัวชุมชนที่ทำให้บ้านสุขสมบูรณ์รังสรรค์เมนูอาหารที่สุดแสนประทับใจฝากกลับไปให้ผู้มาเยี่ยมเยือนทุกคน และยังมีกิจกรรมให้ลงมือทำอีก เช่น ลงมือเก็บผักจากฟาร์มมาทำสลัดโรล ปั้นลูกกระสุนเมล็ดพันธุ์ไปยิงที่ผาเก็บตะวัน ดริปกาแฟ เป็นต้น สำหรับผู้ที่สนใจทางชุมชนก็เชิญชวนให้แวะมาฟอกปอด กอดหมอก หยอกภูเขา กับเราชาววังน้ำเขียวที่โฮมสเตย์บ้านสุขสมบูรณ์ได้
เรียนรู้วัฒนธรรมและวิถีชีวิตเเบบล้านนาของภาคเหนือ ไปกับชนเผ่าพื้นเมือง “ชุมชนปางห้า” จังหวัดเชียงราย ชุมชนเก่าแก่กว่า 100 ปี ที่ตั้งอยู่เหนือสุดของประเทศไทย ภายในชุมชนประกอบไปด้วยโฮมสเตย์เเละกิจกรรมต่าง ๆ ที่น่าสนใจมากมายทั้ง การทำศิลปะบนแผ่นกระดาษสา และสปาใยไหมทองคำ พร้อมชิมอาหารมื้อพิเศษที่มาในรูปแบบขันโตกตามวัฒนธรรมล้านนา
หรือลองสัมผัสไปกับชุมชนที่โดดเด่นด้านผลิตภัณฑ์ของ “ชุมชนบ้านแม่แมะ” จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหมู่บ้านเก่าแก่ยาวนานกว่า 200 ปี มีสภาพแวดล้อมของป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์เพราะตั้งอยู่ในพื้นที่ต้นน้ำ ซึ่งในอดีตชาวบ้านส่วนใหญ่ได้อพยพเข้ามาอาศัยเก็บใบเมี่ยง (ใบชา) และชาวบ้านที่นี่ยังประกอบอาชีพ ปลูกชา ปลูกกาแฟ เก็บสมุนไพร และของป่า ผลิตภัณฑ์ชุมชนที่น่าสนใจของที่นี่ไม่ว่าจะเป็น ชาอัสสัมชนิดชงดื่ม กาแฟดริป ชาดอกเมี่ยง สบู่ชาดอกเมี่ยง น้ำมันนวดจากธรรมชาติ และเทียนหอมจากยอดชาขาว เป็นต้น
ล่องใต้ไปชมน้ำทะเลสีฟ้าครามและธรรมชาติอันสวยงามของภาคใต้ ที่มีทั้งป่าเขาลำเนาไพร ทะเลหมอกสุดอลังการ ไปจนถึงลองลิ้มรสอาหารใต้รสเลิศต้นฉบับที่ “ชุมชนหาดส้มแป้น” จังหวัดระนอง ชุมชนที่มีสารพัดกิจกรรมซึ่งดึงเสน่ห์วิถีชีวิตของชาวบ้าน มาสร้างประสบการณ์ร่วมกับนักท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นการร่อนเเร่ การนั่งรถสองเเถวสุดคลาสสิคชมวิถีชีวิตของชุมชน ไปจนถึงหัดทำเซรามิก จากแหล่งแร่ดินขาวที่มีคุณภาพดีที่สุดในประเทศไทย เพื่อนำกลับไปเป็นของฝากชิ้นเดียวในโลก หรือเปลี่ยนบรรยากาศมาเที่ยว “ชุมชนจุฬาภรณ์พัฒนา 9” จังหวัดยะลา ที่เป็นเหมือนหมู่บ้านจีนเล็ก ๆ ที่ซ่อนตัวท่ามกลางหุบเขา ที่สามารถแวะพูดคุยกับผู้อพยพที่เป็นผู้สูงอายุมากด้วยเรื่องราว และเข้าพักเกสต์เฮ้าส์ชุมชนที่อยู่ติดกับผืนป่าฮาลาบาลา เพื่อสัมผัสวิถีชีวิตที่สงบ ซึ่งสามารถเดินชมน้ำตกที่สวยสะดุดตาที่มีชื่อว่าน้ำตกฮาลาซะห์พร้อมได้เรียนรู้เเง่มุมอดีตผ่านพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ไปในเวลาเดียวกัน
ลองมาท่องเที่ยวในรูปแบบที่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ ที่ภาคกลาง “ชุมชนสลักคอก จังหวัดตราด” ชุมชนที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเกาะช้าง จังหวัดตราด แต่ถูกเรียกว่าเกาะช้างใต้ เพราะเกาะช้างถูกแบ่งออกเป็นสองฝั่ง คือฝั่งเหนือกับฝั่งใต้ ฝั่งเหนือจะคับคั่งไปด้วยผู้คน และการท่องเที่ยวที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ฝั่งใต้กลับกลายเป็นฝั่งที่คับคั่งไปด้วยธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ที่รอให้นักท่องเที่ยวได้ไปสัมผัส ถ้ายังไม่จุใจลองมาเยือน “ชุมชนบ้านล่าง” จังหวัดจันทบุรี หมู่บ้านเล็ก ๆ เก่าแก่ อายุประมาณ 200 ปี ที่เต็มไปด้วยความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรธรรมชาติชายฝั่ง ที่ยังมีร่องรอยเส้นทางหากินและพักแรมของโขลงช้างป่า จากสระน้ำที่เกิดจากการนอนเกลือกกลิ้งของโขลงช้างจนเกิดเป็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่ ชมกิจกรรมหลักของชุมชน คือการทอเสื่อ มีทั้งเสื่อปอ และเสื่อกก ที่แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ฝีมือสุดประณีต
กรมการพัฒนาชุมชนคาดว่า ผลลัพธ์จากการพัฒนาศักยภาพ 20 ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีในโครงการฯนี้จะเป็นแม่แบบของการพัฒนาชุมชนท่องเที่ยวอื่น ๆ ในประเทศไทยให้สามารถกระจายการท่องเที่ยวทั้งในมิติของพื้นที่และรายได้สู่ชุมชนอย่างยั่งยืน ซึ่งนี่ถือเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนาชุมชนสู่การท่องเที่ยวที่สร้างความแตกต่างด้วยเอกลักษณ์ที่โดดเด่น ครบวงจรทั้งทางด้านสินค้า บริการ และท่องเที่ยวภูมิทัศน์ พร้อมยกระดับการท่องเที่ยวของประเทศไทยมุ่งสู่ระดับสากลต่อไป
สามารถติดตามข่าวสารและสอบถามข้อมูลสินค้าและบริการของชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีทั้ง 20 ชุมชนได้ที่ เฟสบุ๊คแฟนเพจ OTOP นวัตวิถี และ Local Alike