NEWS

ททท. เตรียม kick off เทศกาล “สีสันแห่งสายน้ำ มหกรรมลอยกระทง ปี 2566” ชวนสัมผัสคุณค่าแห่งวิถีไทยทั่วประเทศ

บ่ายนี้ (16 พฤศจิกายน 2566) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จัดงานแถลงข่าวเทศกาล “สีสันแห่งสายน้ำ มหกรรมลอยกระทง ปี 2566” ณ ห้องโถงธนะรัชต์ อาคาร ททท. เตรียมสืบสานงานประเพณีลอยกระทงอันทรงคุณค่าอย่าง“วิถีไทย” ผสานเทคโนโลยีสมัยใหม่ในคอนเซปต์ “Moonlight Reflection Loi Krathong Along The Canal” ระหว่างวันที่ 24-28 พฤศจิกายน 2566 ณ คลองผดุงกรุงเกษม ย่านหัวลำโพง เนรมิตบรรยากาศแห่งความสุข สะท้อนความงดงามของวัฒนธรรมไทยด้วยการนำเสนอสายธารประทีป 5 พื้นที่อัตลักษณ์ ได้แก่ เชียงใหม่ สุโขทัย ตาก สมุทรสงคราม และร้อยเอ็ด พร้อมสอดแทรกแนวคิดการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ 
คาดปั๊มรายได้ท่องเที่ยวทั่วประเทศ 6,100 ล้านบาท

นายอภิชัย ฉัตรเฉลิมกิจ รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว ททท

นายอภิชัย ฉัตรเฉลิมกิจ รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว ททท. กล่าวว่า  งานสีสันแห่งสายน้ำ มหกรรมลอยกระทง ปี 2566 ถือหนึ่งใน Big Events ของ ททท. ภายใต้ Thailand Winter Festival โดยมีกำหนด
จัดงานในวันที่ 24-28 พฤศจิกายน 2566 ณ คลองผดุงกรุงเกษม ย่านหัวลำโพง กรุงเทพมหานคร มุ่งนำเสนอความสุขและคุณค่าของประเพณีลอยกระทงตามวิถีไทย สะท้อนความงดงามของวัฒนธรรมไทยกับสายน้ำสู่สากล ในแนวคิด “Moonlight Reflection Loi Krathong Along the Canal” สร้างสีสันบนผืนน้ำด้วยแสงสี (Lighting) เติมเต็มค่ำคืนวันเพ็ญ พร้อมนำส่งประสบการณ์ใหม่ Amazing Experience ของประเพณีลอยกระทงที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ตามแนวคิดการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบสู่ความยั่งยืน (Sustainable Tourism) ด้วยการรณรงค์ใช้กระทงจากวัสดุธรรมชาติ 1 ครอบครัว 1 กระทง และเพื่อกระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ
ผ่านรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ทั้งในพื้นที่ที่ ททท. จัดงาน และพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศ

ปีนี้ ททท. พร้อมมอบความพิเศษด้วยไฮไลต์การแสดงแสงเสียง “Lighting Illumination Show” ผ่านสัญลักษณ์แลนมาร์กกระทงประดับไฟ 5 พื้นที่เอกลักษณ์ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ สุโขทัย ตาก สมุทรสงคราม และร้อยเอ็ด และกิจกรรมต่าง ๆ ที่สร้างการรับรู้ถึงคุณค่าของประเพณีไทย เช่น พิธีเฉลิมฉลองประเพณีลอยกระทงขบวนแห่ประเพณีลอยกระทง โดยนางสาวแอนนา เสืองามเอี่ยม Miss Universe Thailand 2022 แต่งกายชุดนางนพมาศ  การแสดงทางวัฒนธรรม  กิจกรรมสาธิตอาหารชาววังและกระทงเอกลักษณ์ 5 พื้นที่ กิจกรรม รวมทั้งตลาดย้อนยุครัตนโกสินทร์จำหน่ายอาหารไทย นอกจากนี้ ททท. ยังตระหนักถึงเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมภายในพื้นที่จัดงาน โดยมีการบริหารจัดการขยะจากกระทง และให้นักท่องเที่ยวร่วมสืบสานประเพณีไทยที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมผ่านกิจกรรม DIY ประดิษฐ์กระทงจากวัสดุธรรมชาติ เช่น กระทงกะลามะพร้าว กระทงใบลาน กระทงกาบกล้วย

ทั้งนี้ ททท. ได้สนับสนุนและประชาสัมพันธ์การจัดงานประเพณีลอยกระทง 5 พื้นที่อัตลักษณ์ทั่วประเทศ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ สุโขทัย ตาก สมุทรสงคราม และร้อยเอ็ด ซึ่งแต่ละพื้นที่มีรายละเอียดแตกต่างกันไป  ดังต่อไปนี้

1. ประเพณีเดือนยี่เป็งเชียงใหม่ ประจำปี 2566 

กำหนดการ                     : วันที่ 26-28 พฤศจิกายน 2566

สถานที่จัดงาน                 : บริเวณเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่

กิจกรรมภายในงาน           : เนรมิตบรรยากาศเมืองเชียงใหม่ต้อนรับประเพณีลอยกระทงตามความเชื่อล้านนา วันที่ 26 พฤศจิกายน 2566 พบกับพิธีขอขมาแม่น้ำปิง กิจกรรมประกวดโคมยี่เป็งล้านนา  และพิธีเปิดงานประเพณีเดือนยี่เป็งเชียงใหม่ 2566 เวลา 18.00 น. ณ ข่วงประตูท่าแพ ภายใต้แนวคิด “เชียงใหม่นครแห่งความสุข และความสง่างาม ค่ำคืนแห่งสายนที วิถีวัฒนธรรมล้านนา”, วันที่ 26-28 พฤศจิกายน 2566 พบกับ
การประกวดเทพี-เทพบุตรยี่เป็งเชียงใหม่ พิธีปล่อยกระทงสายล้านนา กิจกรรมความสุขแห่งสายน้ำ ยี่เป็งเชียงใหม่ และการแสดงพลุเฉลิมพระเกียรติ เวลา 20.30 น. ณ ท่าน้ำศรีโขง ต่อมาในวันที่ 27 พฤศจิกายน ตั้งแต่เวลา 18.00 น. เป็นต้นไป พบกับ
การประกวดขบวนแห่สะเปาล้านนา การประกวดหนูน้อยยี่เป็งเชียงใหม่  และ
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 พบกับการประดวกชบวนแห่กระทงใหญ่ชิงถ้วยพระราชทานฯ เวลา 19.00 น. ณ ท่าแพ สำนักงานเทศบาล

2. ประเพณีลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ จังหวัดสุโขทัย

กำหนดการ                  : วันที่ 18-27 พฤศจิกายน 2566

สถานที่จัดงาน              : อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย จังหวัดสุโขทัย

           กิจกรรมภายในงาน    : ตื่นตาตื่นใจกับไฮไลต์การแสดงแสง เสียง ณ วัดมหาธาตุ เมืองมรดกโลกสุโขทัย ย้อนอดีตสู่ความเจริญรุ่งเรืองของอาณาจักรสุโขทัย ผ่านการถ่ายทอดจากนักแสดงนาฏศิลป์กว่า 400 ชีวิต ชมขบวนช้างยุทธหัตถี การละเล่น พลุตะไล ไฟพะเนียง
ไฟไทยแบบโบราณ สุดตระการตา วันที่ 18-27 พฤศจิกายน 2566 เวลา 19.00 น. และเพิ่มรอบในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 เวลา 20.30 น. การแสดงการจุดพลุ ตะไล ไฟ พะเนียง ดอกไม้ไฟ แบบสุโขทัย ทุกวัน เวลา 22.30 น. การจำลองวิถีชีวิตสมัย


กรุงสุโขทัย ตลาดโบราณ ตลาดแลกเบี้ย ตลาดบ้านบ้าน ทุกวัน เวลา 16.00 -22.00 น., การแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ ณ บริเวณหลังวัดชนะสงคราม ทุกวัน เวลา 21.00 น., การแสดงแสง เสียง ชุดตำนานท้าวศรีจุฬาลักษณ์ บริเวณตระพังตระกวน ทุกวัน เวลา 22.00 น., การประกวดกระทงเล็ก กระทงใหญ่ โคมชัก โคมแขวน จัดแสดง
ณ ลานหน้าอนุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหง และตระพังตาล ทุกวัน เวลา 16.00-23.00 น., กิจกรรมสีสันแห่งสายน้ำ มหกรรมลอยกระทงสุโขทัย (โซน ททท.)
การแสดงและสาธิตผลิตภัณฑ์ ของที่ระลึก สุโขทัย กิจกรรม DIY การแสดงวัฒนธรรม และจุดถ่ายภาพ Landmark ณ บริเวณหน้าวัดชนะสงคราม ทุกวัน เวลา 16.00-22.00 น. และในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 เวลา 15.00 น. เป็นต้นไป พบกับ
ขบวนแห่ทางวัฒนธรรมงานประเพณีลอยกระทงสุโขทัย กระทงใหญ่ โคมชักโคมแขวนจาก 4 ปากประตูเมืองสุโขทัย

3. ประเพณีลอยกระทงสายไหลประทีป ๑,๐๐๐ ดวง จังหวัดตาก

กำหนดการ                    วันที่ 24-27 พฤศจิกายน 2566

สถานที่จัดงาน                เชิงสะพานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี อำเภอเมือง จังหวัดตาก

กิจกรรมภายในงาน         :       วันที่24 พฤศจิกายน 2566 ตั้งแต่เวลา 16.00 น.พบกับกิจกรรมลานภูมิปัญญากระทงสาย จำหน่ายกระทงกะลาของนักเรียน และกิจกรรมทางศาสนา ได้แก่ สักการะบูชาพระอุปคุต รอยพระพุทธบาท พระแม่คงคา น้ำมนต์จันทร์เพ็ญวัดวา
สะเดาะเคราะห์, กาดกระทงสาย, การประกวดวงดนตรีลูกทุ่ง ดาวรุ่งลูกทุ่งกระทงสายชิงถ้วยพระราชทานฯ และการแข่งขันมวยไทยและมวยคาดเชือก

                                              – วันที่ 25 พฤศจิกายน 2566 ตั้งแต่เวลา 16.00 น.พบกับกิจกรรมลานภูมิปัญญากระทงสาย และขบวนแห่อัญเชิญพระประทีป พระราชทานฯ, ขบวนแห่เรือกระทงสาย ทั้ง 4 สาย โดยมีไฮไลต์อยู่ที่พิธีอัญเชิญพระประทีปพระราชทานฯ และพิธีอัญเชิญถ้วยพระราชทานฯ ประดิษฐานบนเวทีกลางน้ำปิง  และพิธีเปิดงานฯ
ในเวลาในเวลา 20.00 น. พร้อมการลอยกระทงสายไหลประทีป ๑,๐๐๐ ดวง

                                              – วันที่ 26 พฤศจิกายน 2566 ตั้งแต่เวลา 16.00 น.พบกับกิจกรรมลานภูมิปัญญากระทงสาย  และกิจกรรมไฮไลต์ พิธีขอขมาพระแม่คงคา (ถวายผ้าป่าน้ำ)
ณ เวทีกลางน้ำปิง ในเวลา 19.00 น. และชมการแข่งขันการลอยกระทงสายไหลประทีป ๑,๐๐๐ ดวง ประจำปี 2566

                                             – วันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 ตั้งแต่เวลา 16.00 น.พบกับกิจกรรมลานภูมิปัญญากระทงสาย และกิจกรรมไฮไลต์ พิธีขอขมาพระแม่คงคา (ถวายผ้าป่าน้ำ)
พิธีอัญเชิญพระประทีปพระราชทานฯ, ชมการแข่งขันการลอยกระทงสายไหลประทีป ๑,๐๐๐ ดวง ประจำปี 2566 และพิธีปิดงาน ณ เวทีกลางน้ำปิง ตั้งแต่เวลา 19.00 น. เป็นต้นไป พร้อมชมการแสดงพลุในเวลา 21.00 น. ก่อนจะส่งท้ายกิจกรรมใส่บาตรพระอุปคุต เที่ยงคืน อาบน้ำมนต์จันทร์เพ็ญ ในเวลา 24.00 น.

4. ประเพณีลอยกระทงกาบกล้วยเมืองแม่กลอง

กำหนดการ            วันที่ 25-27 พฤศจิกายน 2566 ณ อุทยาน ร.2 จ.สมุทรสงคราม

                        และวันที่ 18 -27 พฤศจิกายน 2566 ณ วัดภุมรินทร์กุฎีทอง จ.สมุทรสงคราม

กิจกรรมภายในงาน     : กิจกรรมภายในอุทยาน ร.2 พบกับการประกวดกระทงชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี,
การประกวดรำวงตามบทร้อง (พื้นบ้าน) ชิงถ้วยพระราชทานฯ  พิธีอาบน้ำเพ็ญ,
การแสดงจากยุวศิลปินของมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ การแสดงการละเล่นพื้นบ้าน ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น, นิทรรศการอาหารบ้านฉัน นิทรรศการกระทงกาบกล้วย  กิจกรรมเวิร์กชอปกระทงกาบกล้วย อาหารและขนมพื้นเมือง ก่อนจะเพลิดเพลินไปกับโซนตลาดสินค้าชุมชนและของที่ระลึก สาธิตและการออกร้านอาหารและขนมไทยเมืองอัมพวา รวมทั้งสินค้าเพื่อสุขภาพต่าง ๆ เช่น  อาหารสุขภาพ นวด สปา เครื่องหอม สมุนไพร

– กิจกรรมที่จัดขึ้นภายในวัดภุมรินทร์กุฎีทอง พบกับริ้วขบวนแห่พระประทีป พระราชทาน การลอยกระทงกาบกล้วย 200,000 ใบ การประกวดนางนพมาศ 
การออกร้านจำหน่ายสินค้าชุมชน และการแสดงเชิงวัฒนธรรม

5. ประเพณีสมมาน้ำ คืนเพ็ง เส็งประทีป ครั้งที่ 25 ประจำปี 2566

กำหนดการจัดงาน      วันที่ 26–27 พฤศจิกายน  2566

สถานที่จัดงาน            สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ร้อยเอ็ด และบึงพลาญชัย จังหวัดร้อยเอ็ด

กิจกรรมภายในงาน    : วันที่ 26 พฤศจิกายน 2566 พบกับ การประกวดรำวงสมมาน้ำคืนเพ็งเส็งประทีป เวลา 13.00 น., การแสดงดนตรีพื้นบ้านอีสาน (หมอลำ) โดยศิลปินแห่งชาติแม่ฉวีวรรณพันธุ์ เวลา 15.00 น. ขบวนอัญเชิญพระประทีปและถ้วยรางวัลพระราชทาน ณ ศาลากลางจังหวัดร้อยเอ็ด รำวงสมมาน้ำคืนเพ็งเส็งประทีป จำนวน 5,000 คน เวลา 18.00 น. และชมการแสดง แสง เสียง เวลา 18.30 น. และการแสดงของศิลปินท้องถิ่น เวลา 20.00 น.

– วันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 พิธีสักการะและบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองจังหวัดร้อยเอ็ด เวลา 8.30 น., พิธีเปิดงานประเพณี “สมมาน้ำ คืนเพ็ง เส็งประทีป” ครั้งที่ 25 ประจำปี 2566 เวลา 17.30 น, ขบวนอัญเชิญพระประทีปและถ้วยรางวัลพระราชทาน เวลา 18.00 น. ขบวนแห่กระทงประทีป 12 เมืองร่วมสมัย และไฮไลต์ขบวนอัญเชิญไฟพระราชทานนำหน้าพระประทีปพระราชทานลงลอยในบึงพลาญชัย เวลา 20.00 น. และเชิญประชาชนร่วมลอย “กระทงข้าว” ในเวลา 20.30 น.

 รวมถึงงานประเพณีลอยกระทงในพื้นที่กรุงเทพมหานครได้แก่ ICONSIAM CHAO PHRAYA RIVER OF ETERNAL PROSPERITY  ลอยกระทงบนสายน้ำแห่งความเจริญรุ่งเรือง วันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 ณ ริเวอร์พาร์ค ไอคอนสยาม และงาน Bangkok River Festival 2023 สายน้ำแห่งวัฒนธรรมไทย วันที่ 25-27 พฤศจิกายน 2566
ณ 10 พื้นที่ในกรุงเทพมหานคร ได้แก่ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรวิหาร วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร ท่ามหาราช ท่ายอดพิมาน ล้ง 1919 สุขสยาม และเอเชียทีค เดอะริเวอร์ฟร้อนท์

ทั้งนี้ ในช่วงเทศกาลลอยกระทงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 สถานการณ์ท่องเที่ยวภาพรวมจะเติบโตเพิ่มขึ้น จากแรงหนุนทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้ง ททท. ร่วมกันจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวและรายได้ จึงคาดว่าจะมีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย 2.04 ล้านคน-ครั้ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยส่วนใหญ่จะเป็นการเดินทางจากคนท้องถิ่นหรือคนจากจังหวัดใกล้เคียง และสร้างรายได้ทางการท่องเที่ยวอยู่ที่ 6,100 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา
ซึ่งสำหรับในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่ ททท. ดำเนินการเอง จำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย 299,730 คน-ครั้ง และรายได้ทางการท่องเที่ยว 1,215 ล้านบาท ขณะที่พื้นที่ไฮไลต์ที่ ททท. ให้การการสนับสนุน 5 พื้นที่เอกลักษณ์ ได้แก่ สมุทรสงคราม เชียงใหม่ สุโขทัย ตากและร้อยเอ็ด จะมีอัตราผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยเดินทางเข้าพื้นที่จัดงานรวมประมาณ 527,070 คน-ครั้ง สร้างรายได้ 1,765 ล้านบาท และมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 65