NEWS

ททท. เผยผลการจัดงาน “เทศกาลเที่ยวเมืองไทย ครั้งที่ 41” มีผู้เข้าชมทะลุเป้าหมายสูงกว่า 74,000 คน

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) รายงานผลการจัดงาน “เทศกาลเที่ยวเมืองไทย ครั้งที่ 41” ระหว่างวันที่ 2 – 6 สิงหาคม 2566 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ โดยมียอดผู้เข้าร่วมงานกว่า 74,000 คน สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ และสร้างรายได้กว่า 32 ล้านบาท ตลอดช่วงระยะเวลาการจัดงาน 5 วัน ผู้เข้าร่วมชมงานต่างประทับใจในการนำเสนอความหลากหลายของอาหารพื้นถิ่นที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของ 5 ภูมิภาคทั่วไทย รวมถึงชื่นชมรูปแบบการจัดงานที่เน้นการส่งเสริมความยั่งยืน ภายใต้กิจกรรม “ลดโลกเลอะ Zero Landfills” ซึ่งให้ความสำคัญกับการลดการใช้วัสดุสิ้นเปลืองและกำจัดขยะภายในงาน ถือเป็นมิติใหม่ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่มุ่งผลักดันเป้าหมายการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Sustainable Tourism Goals: STGs) อย่างเป็นรูปธรรม

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ ททท. กล่าวว่าการจัดงานเทศกาลเที่ยวเมืองไทยครั้งที่ 41 ที่ผ่านมา ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ด้วยจำนวนผู้เข้าร่วมงานตลอดระยะเวลา 5 วัน อยู่ที่ 74,578 คน สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยสร้างกระแสเงินหมุนเวียนกว่า 32 ล้านบาท ผู้เข้าร่วมงานมีความประทับใจต่อการนำเสนออาหารพื้นถิ่นของทั้ง 5 ภูมิภาคที่แสดงถึงเอกลักษณ์รสชาติอาหารไทยในแต่ละพื้นที่ รวมถึงผลิตภัณฑ์สินค้า กิจกรรมสาธิตที่แสดงถึงอัตลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมประจำถิ่น นอกจากนี้ สิ่งที่ถือว่าเป็นมิติใหม่สำหรับการจัดงานเทศกาลเที่ยวเมืองไทยในครั้งนี้  คือ การลดการสร้างขยะ และการกำจัดขยะอย่างถูกวิธี โดยไม่ทิ้งภาระให้กับสิ่งแวดล้อมที่ ททท.นำเสนอภายใต้แนวคิด “ลดโลกเลอะ Zero Landfills” ยังได้สร้างความประทับใจให้กับผู้เข้าร่วมงานที่ได้ร่วมกันคัดแยกขยะ และการใช้ภาชนะที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ โดยขยะที่จัดเก็บได้ทั้งหมดตลอดระยะเวลาการจัดงาน 5 วัน จำนวน 12,489 กิโลกรัม โดยขยะประเภทต่างๆ จะส่งต่อให้พันธมิตรเพื่อกำจัดอย่างถูกวิธี ได้แก่ ขวด PET  ขวดแก้วและกระป๋องโลหะ นำเข้าโครงการ Youเทิร์น ของ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC  แก้วพลาสติกและฝาครอบ นำไปรีไซเคิล โดย Cirplas ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญการรีไซเคิลพลาสติกชนิด PLA ลังกระดาษ นำส่งศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์เพื่อรวบรวม และขยะเศษอาหาร (อินทรีย์) ส่งเข้าโครงการ “ไม่เทรวม” ของ กทม. (เขตคลองเตย) เพื่อทำปุ๋ยหมัก ส่วนขยะทั่วไป นำส่งเผาในระบบปิดของโรงงานปูนซีเมนต์โดย บริษัท N15 Tecnology ซึ่งการคัดแยกขยะสู่การกำจัดที่ถูกต้องในครั้งนี้สามารถช่วยลดปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ จำนวน 26,890 กิโลคาร์บอน หรือ เทียบเท่ากับการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของต้นไม้ 2,987 ต้น/ปี การดำเนินการดังกล่าวสอดคล้องกับการเดินหน้าของ ททท. ที่จะขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไปสู่ระบบนิเวศด้านการท่องเที่ยวใหม่ (New Tourism Ecosystem) ซึ่ง ททท. จะส่งมอบบนพื้นฐานของความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ชุมชน สังคม เพื่อให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยกลับมาเติบโตอย่างแข็งแกร่ง มั่นคง ยั่งยืน และสมดุล พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและคงความสำคัญของการเป็นกลไกสร้างรายได้ให้กับเศรษฐกิจของประเทศไทยต่อไป

สำหรับผลของการจัดงานในครั้งนี้ กว่าร้อยละ 95 ของผู้เข้าร่วมชมงานทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติมีความพึงพอใจในการจัดงาน โดยผู้เข้าร่วมชมงาน ร้อยละ 94 มีความต้องการเดินทางท่องเที่ยวจากการเข้าร่วมงาน โดยจังหวัดที่มีผู้สนใจเดินทางท่องเที่ยวสูงที่สุด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย น่าน ภูเก็ต และกาญจนบุรี สำหรับความเห็นต่อการเข้าชมงาน พบว่า ผู้เข้าร่วมชมงานร้อยละ 93.2 เห็นว่าข้อมูลสินค้าและบริการที่นำเสนอในงานมีความน่าสนใจ ร้อยละ 92.6 เห็นว่าการเข้าชมงานทำให้เรียนรู้และได้ประสบการณ์ใหม่ๆ ร้อยละ 87 เห็นว่า ทำให้สนใจท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และดูแลสิ่งแวดล้อม ขณะที่ร้อยละ 84 เห็นว่าการเข้าร่วมงานทำให้สนใจท่องเที่ยวชุมชนและวิถีไทย ขณะที่กระแสเงินหมุนเวียนภายในงาน ร้อยละ 50 เป็นค่าอาหารและเครื่องดื่ม ค่าสินค้าของที่ระลึกท้องถิ่น ร้อยละ 38 สินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ร้อยละ 7.5 ค่ากิจกรรม DIY และการจำหน่ายอนุสาร อ.ส.ท. ร้อยละ 4.8

ทั้งนี้ จากความสำเร็จของการจัดงานเทศกาลเที่ยวเมืองไทยครั้งที่ 41 นี้ ที่นอกจากจะได้รับกระแสตอบรับที่ดีทั้งในเรื่องการส่งมอบประสบการณ์ท่องเที่ยวด้วยอัตลักษณ์ท้องถิ่นของทั้ง 5 ภูมิภาคทั่วไทยแล้ว ยังทำให้ผู้เข้าร่วมชมงานเห็นความสำคัญของการคัดแยกขยะ และรู้สึกมีส่วนร่วมในการรักษาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยก้าวต่อไป ททท. ได้เตรียมการเข้าสู่ตลาดซื้อขายเครดิตคาร์บอน เพื่อรองรับการสร้างเครดิตคาร์บอนจากกิจกรรมและโครงการต่าง ๆ ด้านการท่องเที่ยว เพื่อขับเคลื่อนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการท่องเที่ยวด้วยแนวทาง “ปรับ ลด ชดเชย” อย่างเป็นรูปธรรม มุ่งสู่ Net Zero Tourism และเป้าหมาย Sustainable Tourism Goals ต่อไป