NEWS

ททท. ระดมสมองประชุมแผนตลาดท่องเที่ยวปี 67 เตรียมแถลงทิศทางการส่งเสริมตลาดท่องเที่ยวไทย มุ่งคุณภาพควบคู่มูลค่า เดินหน้าสู่เป้าหมายการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (STGs)

วันนี้ (11 กรกฎาคม 2566) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จัดประชุมบูรณาการแผนปฏิบัติการ ททท. ประจำปี 2567 (Tourism Authority of Thailand Action Plan 2024 : TATAP 2024) โดยมี นายโชติ ตราชู ประธานกรรมการ ททท. นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ ททท. พร้อมด้วยคณะกรรมการ ผู้บริหาร ผู้อำนวยการสำนักงาน ททท. ในทุกภูมิภาคทั่วโลก เข้าร่วม ระหว่างวันที่ 11 – 13  กรกฎาคม 2566 ณ โรงแรมแกรนด์ เซนเตอร์ พอยต์ สเปซ พัทยา จังหวัดชลบุรี

นายโชติ ตราชู ประธานกรรมการ ททท. กล่าวมอบนโยบายการดำเนินงานของ ททท. ปี 2567 ว่า การมุ่งไปสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินงานในทุกภาคส่วนของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย ซึ่งต้องบูรณาการการทำงานระหว่างกัน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และชุมชนในพื้นที่ โดยให้ความสำคัญต่อการคำนึงถึงขีดความสามารถของแหล่งท่องเที่ยว (Capacity) ในการรองรับนักท่องเที่ยว การยกระดับห่วงโซ่อุปทาน หรือ Supply side ให้มีความพร้อมและมีมาตรฐานการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ตลอดจนส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ ควบคู่กับส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้สู่ฐานรากอย่างทั่วถึง สู่หมุดหมายของการเดินหน้าขับเคลื่อน
การท่องเที่ยวไทยในอนาคตให้เติบโตอย่างยั่งยืนและสมดุลทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อันสอดคล้องกับแนวคิด Bio Circular Green Economy หรือ BCG Model

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ ททท. กล่าวว่าการเดินหน้าของ ททท. ในปี 2567 คือ Moving Forward to Better โดยปี 2567 จะเป็นปีแรกของการมุ่งสู่ Resilience ต่อจากความสำเร็จในการเปิดประเทศ (Reopen) และการฟื้นตัว (Recovery) โดยต้องเริ่มขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไปสู่ระบบนิเวศด้านการท่องเที่ยวใหม่ (New Tourism Ecosystem) ให้เป็นระบบนิเวศด้านการท่องเที่ยวที่มีความสมดุลระหว่างมูลค่าและคุณค่า โดย “คุณค่า” คือ คุณค่าของประสบการณ์ (Value on Experience :VOX) ซึ่ง ททท. จะส่งมอบบนพื้นฐานของคุณภาพและความปลอดภัย รวมถึง ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ชุมชน สังคม พร้อมรองรับนักท่องเที่ยวคุณภาพอย่างยั่งยืน   เพื่อให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยกลับมาอย่างแข็งแกร่ง และสร้างความมั่นคงทางการท่องเที่ยว (Tourism Security) ซึ่งประกอบด้วย การเสริมสร้างความแข็งแกร่งของห่วงโซ่อุปทาน การพัฒนาปัจจัยสนับสนุนการท่องเที่ยวและโครงสร้างพื้นฐานบริการนักท่องเที่ยวอย่างเท่าเทียม การเร่งรัดการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการความเสี่ยงภายนอกอย่างมีประสิทธิภาพ และมุ่งเดินหน้าการท่องเที่ยวด้วย ZEST ได้แก่ Z: Zero in on Sustainability มุ่งผลักดันการท่องเที่ยวไปสู่ความยั่งยืน E: Expressive – Full of Meaningful สร้างโมเมนต์ที่เต็มไปด้วยความหมายและความสุขจากการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ S: Superior – Greater in Quality สร้างคุณภาพและมาตรฐานที่เหนือระดับในมิติของกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพ T: Transformation – IT Modernization ใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มคุณค่าของประสบการณ์ (VoX) โดยจะควบคู่ไปกับการห่วงใยใส่ใจในเรื่องความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว หรือ CARE ได้แก่ C : Caution เฝ้าระวัง บริหารความเสี่ยงจากอุบัติเหตุต่าง ๆ A : Aid in emergencies ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลนักท่องเที่ยวทันทีเมื่อเกิดเหตุ R: Remedy รักษาเยียวยาความรู้สึกจากเหตุที่ประสบ และ E: Escalate ยกระดับการป้องกันเหตุ ถอดบทเรียนเพื่อศึกษาแนวทางการป้องกันเหตุในอนาคต โดยเชื่อมั่นว่า การดำเนินงานของ ททท. ภายใต้บริบทของ ZEST และ CARE จะช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยให้เติบโตอย่างมั่นคง ยั่งยืน และสมดุล พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและคงความสำคัญของการเป็นกลไกสร้างรายได้ให้กับเศรษฐกิจของประเทศไทยต่อไป

เพื่อให้รายได้จากการท่องเที่ยวในปี 2567 กลับมา 100% ของระดับรายได้ในปี 2562  หรือ 3.1 ล้านล้านบาท ททท.จะเน้น Targeted & Keep Driving (Demand) ในเชิงคุณภาพเพิ่มทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวและค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของนักเที่ยว โดยล็อกเป้า (Targeted) นักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพที่มีกำลังซื้อสูงและมีจิตสำนึกที่ดี กระจายรายได้ลงสู่ท้องถิ่นและชุมชน และ ส่งเสริมการท่องเที่ยวให้เกิดสมดุลในมิติพื้นที่และเวลา ขณะเดียวกันทางด้าน Supply เพื่อก้าวต่อไปข้างหน้าอย่างยั่งยืน (Build for the next chapter, Act responsibly) จะเร่งสร้างอุปทานการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ เน้นความยั่งยืนในการสร้างการเติบโต เพื่อมุ่งสู่ Net Zero Tourism

นอกจากนี้ การประชุมบูรณาการแผนปฏิบัติการ ททท. ประจำปี 2567 ยังได้มีการร่วมกันระดมความคิดเห็นถึงแนวทางการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเด็นที่สำคัญต่าง ๆ อาทิ การส่งเสริมภาพลักษณ์และเสนอขายประสบการณ์ท่องเที่ยวไทยในมิติความยั่งยืน การกระตุ้นการใช้จ่ายและผลักดันการกระจายการเดินทางให้คนไทยท่องเที่ยวตลอดทั้งปี การจัดเก็บข้อมูลลูกค้า ททท. และ Voice of Customers (VOC) รวมถึง Voice of Suppliers (VOS) ที่สำคัญ ผ่าน Touchpoints ใน Customer Journey ตลอดจนสรุปแผนการดำเนินงานส่งเสริมตลาดเชิงบูรณาการของ ททท. ปี 2567

ทั้งนี้  ททท. จะนำเสนอและแถลงทิศทางการส่งเสริมการตลาดการท่องเที่ยว ปี 2567 ในวันที่ 17 กรกฎาคม 2566 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และผู้ที่เกี่ยวข้องในแวดวงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้รับทราบแนวทางในการร่วมกันขับเคลื่อนการท่องเที่ยวของประเทศไทยให้ไปสู่การเป็นจุดหมายปลายทางที่ High Value และ Sustainable อย่างแท้จริง