NEWS

วิกฤตและโอกาส ที่นอน-หมอนยางพาราไทย ส่งออกไปจีน

ที่นอนและหมอนยางพารา นับเป็นสินค้าไทยที่ครองใจผู้บริโภคชาวจีนมานานแล้ว โดยนับเป็นหนึ่งในสินค้าที่ได้รับการตอบรับอย่างล้นหลามในมหกรรมช้อปปิ้งระดับโลก 11.11 บนแพลตฟอร์ม ทีมอลล์ โกลบอล ของอาลีบาบา ทั้งในปี 2563 และปี 2564 โดยจะเห็นว่า 10 อันดับแบรนด์ไทยที่ขายดีที่สุดในช่วง 11.11 ของทีมอลล์ กว่าครึ่งเป็นแบรนด์ที่ขายสินค้าจากยางพารา อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ส่งออกยางพาราไทยในปัจจุบันดูจะไม่ค่อยสู้ดีนัก หลังพิษเศรษฐกิจโลกที่เข้าสู่ภาวะถดถอย อีกทั้งยังเจอวิกฤตน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อผลผลิตยางพาราของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

            ดร.ภูมิพัฒณ์ พงศ์พฤฒิกุล วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) และ ดร.สุเทพ นิ่มสาย จากวิทยาลัยการจัดการมหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งในกลุ่มนักวิจัยที่มีผลงานด้านการค้าไทย-จีน ได้ทำการศึกษาภาพรวมของโซ่อุปทานการส่งออกที่นอนและหมอนยางพาราของประเทศไทย ไปยังประเทศจีนตอนใต้ โดยระบุว่า ประเทศไทยมีการการส่งออกที่นอนและหมอนยางพาราไปยังจีนตอนใต้ผ่าน 2 ช่องทางหลัก ได้แก่ เส้นทางบก (ทางรถ) และ ทางน้ำ ผ่านทางท่าเรือแหลมฉบัง และ ท่าเรือสงขลา จากนั้นผู้นำเข้าจะกระจายสินค้าไปยังตลาดปลายทาง ณ หัวเมืองต่าง ๆ ในประเทศจีน

            ทั้งนี้ จากศึกษาพบว่าปัจจุบันสหกรณ์และวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตที่นอนและหมอนยางพาราของประเทศไทยยังมีปัญหาและอุปสรรค ซึ่งสามารถจำแนกตามอุตสาหกรรมขั้นต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ดังนี้

            อุตสาหกรรมต้นน้ำ ปัญหาและอุปสรรค ได้แก่ คุณภาพของน้ำยางข้นจากโรงงานไม่สม่ำเสมอ เนื่องจากมีปัจจัยด้านฤดูกาลเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยน้ำยางสดที่กรีดในฤดูฝนจะมีเปอร์เซ็นของน้ำเยอะมากกว่าปกติ

            อุตสาหกรรมกลางน้ำ ปัญหาและอุปสรรค ได้แก่ 1) มาตรฐานการผลิตที่นอนและหมอนยางพาราของสหกรณ์หรือวิสาหกิจชุมชนแต่ละที่มีความแตกต่างกันทั้งในด้านคุณภาพ และเครื่องจักรหรือเทคโนโลยีในการผลิต อีกทั้งยังไม่มีการกำหนดมาตรฐานที่ชัดเจนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 2) ปัญหาคุณภาพการผลิตที่ไม่สม่ำเสมอ เนื่องจากสหกรณ์หรือวิสาหกิจชุมชนมีการใช้แรงงานในการผลิตเป็นหลัก ทำให้เกิดข้อผิดพลาดในการผลิตได้ อาทิ การเทน้ำยางข้นลงในแม่พิมพ์ โดยใช้แรงงานจะทำให้เกิดความล่าช้าในการเทน้ำยางลงแม่พิมพ์เนื่องจากน้ำยางข้นเซ็ตตัวเร็ว 3) สหกรณ์หรือวิสาหกิจชุมชน มีข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อจัดตั้งโรงงานผลิตน้ำยางข้นด้วยตัวเอง เนื่องจากต้องใช้จำนวนเงินลงทุนสูง ซึ่งหากสหกรณ์หรือวิสาหกิจชุมชนสามารถผลิตน้ำยางข้นด้วยตัวเองได้จะสามารถลดต้นทุนการผลิตที่นอนและหมอนยางพาราได้ และ 4) สภาพอากาศและอุณหภูมิที่ร้อนเกินไปส่งผลกระทบต่อการผลิต โดยทำให้การตีน้ำยางข้นร่วมกับสารเคมีไม่ได้ประสิทธิภาพเท่าที่ควร

            อุตสาหกรรมปลายน้ำ ปัญหาและอุปสรรค ได้แก่ 1) ที่นอนและหมอนยางพารามีราคาค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับที่นอนและหมอนทั่วไป อีกทั้งมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน ประมาณ 6-7 ปี ทำให้อุปสงค์ต่อที่นอนและหมอนยางพาราต่ำ นอกจากนี้ผู้บริโภคยังมีความต้องการที่แตกต่างกัน 2) มีการแข่งขันจากนักลงทุนชาวจีนที่เข้ามาตั้งโรงงานผลิตที่นอนและหมอนยางพาราขนาดใหญ่ในไทย ซึ่งมีต้นทุนการผลิตต่ำเนื่องจากมีการใช้เครื่องจักรในการผลิตเป็นหลัก จึงสามารถขายที่นอนและหมอนยางพาราได้ในราคาต่ำกว่าสหกรณ์หรือวิสาหกิจชุมชน และ 3) ขาดนโยบายการส่งเสริมด้านการตลาดและการใช้ที่นอนและหมอนยางพาราในประเทศ อาทิ การโฆษณาที่นอนและหมอนยางพาราของไทยให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง

Nature para latex pillow and mattress

            อย่างไรก็ตาม กระแสผู้บริโภคชาวจีนที่มองหาสินค้าเพื่อสุขภาพมากขึ้น ยังคงเป็นโอกาสที่สำคัญสำหรับผู้ประกอบการที่นอนและหมอนยางพาราไทย แม้จะมีคู่แข่งหน้าใหม่เข้ามาในตลาดเพิ่มมากขึ้นก็ตาม โดยแนวทางในการปรับตัวเพื่อเพิ่มศักยภาพแก่ผู้เกี่ยวข้องในโซ่อุปทานอุตสาหกรรมที่นอนและหมอนยางพาราของไทย ได้แก่ 1. เกษตรกรรายย่อย กลุ่มเกษตรกร/สหกรณ์ ควรมีการรวมกลุ่มให้เป็น smart farm เพื่อการผลิตน้ำยางคุณภาพสูง-ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย มีการจัด zoning พื้นที่ผลิตที่เหมาะสมกับทรัพยากรในท้องถิ่นและตลาดรับซื้อ 2. พ่อค้าคนกลาง/จุดรับซื้อ และโรงงานแปรรูปในท้องถิ่น ควรมีมาตรฐานกลางที่ใช้ในการซื้อขาย มีการส่งเสริมเครือข่ายผู้ประกอบการ รวมถึงการพัฒนาจุดรับซื้อ พัฒนาระบบโลจิสติกส์ และการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ และ 3. โรงงานแปรรูปขนาดใหญ่ เพื่อพัฒนาโซ่คุณค่า ศึกษาความต้องการของตลาด รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมในแต่ละตลาด

row of rubber latex pillow in drying process
Rubber production. man working machine rubber sheet in the small rubber factory,Thailand